เอกซเรย์อันตรายต่อลูกในท้องไหม คนท้องเข้าเครื่องสแกนได้หรือเปล่า?
PREGNANCY-003-MOM Mom
เอกซเรย์อันตรายต่อลูกในท้องไหม
เอกซเรย์อันตรายต่อลูกในท้องไหม คนท้องเอกซเรย์ได้หรือเปล่า หมอให้เอกซเรย์แต่กลัวว่าลูกในท้องจะเป็นอันตราย แม่เจ็บทนได้แต่ไม่อยากให้ลูกในท้องเป็นอะไร แบบนี้จะทำยังไงดี แม่ท้องกังวลมาก เชื่อว่าคุณแม่หลายคนคงกำลังประสบปัญหานี้กันอยู่ใช่ไหมค่ะ และมีคำถามคาใจมากมาย วันนี้เราจะมาตอบคำถามที่คุณแม่สงสัยกันค่ะ
จากเพจ คุยกับหมอแอน ได้อธิบายเกี่ยวกับการเอกซเรย์ (x-ray) ของคนท้องไว้อย่างน่าสนใจว่า การเอกซเรย์อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้จริงค่ะ แต่ว่าการที่จะทำให้เกิดอันตรายนั้นจะประกอบไปด้วย 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ
1.ปริมาณรังสี
รังสีเอกซเรย์ เป็นรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค เกิดจากการที่รังสีเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในวัตถุ แล้วทำให้เกิดประจุไฟฟ้าหรือไอออน ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต ซึ่งปริมาณรังสีที่ได้รับอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตได้ โดยทั่วไป อันตรายจาก x-ray นั้น จะเกิดเมื่อปริมาณรังสีที่ได้รับ มีค่ารวมมากกว่า 5 Rad สำหรับการเอกซเรย์เพื่อการรักษาโดยทั่วไป ค่ารังสีจะไม่สูงมาก โดยมีปริมาณ ดังนี้
- เอกซเรย์ปอด ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.00007 Rad
- เอกซเรย์ฟัน ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.0001 Rad
- เมื่อเอกซเรย์แขนขา ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.001 Rad
- วิธีเอกซเรย์ช่องท้อง ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.245 Rad
- เอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนล่าง ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.359 Rad
- ฉีดสีดูการทำงานของระบบไต ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 1.398 Rad
- ตรวจ CT scan ศีรษะ ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.05 Rad
- ตรวจ CT scan ช่องอก ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 0.1 Rad
- เมื่อตรวจ CT scan ช่องท้อง ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 2.6 Rad
- เมื่อตรวจ CT scan กระดูกสันหลังส่วนล่าง ค่ารังสีที่ได้รับ คือ 3.5 Rad
2.อายุครรภ์ของคุณแม่
- หากได้รับรังสีมากๆ (High dose) ในช่วงแรก อาจมีผลให้เกิดการแท้ง หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ หรือถ้าไม่แท้งก็จะไม่มีผลอะไรเลย
- หากได้รับรังสีมากๆ (High dose) ในช่วง 17 สัปดาห์แรก จะมีผลให้เกิดความพิการแต่กำเนิด ทารกโตช้าในครรภ์ หรือความบกพร่องทางสติปัญญาได้
- คุณแม่ได้รับรังสีปริมาณน้อยๆจากการ x-ray เพื่อตรวจวินิจฉัยจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ค่ะ เพราะว่าจะมีรังสีไปถึงทารกน้อยมาก โดยเฉพาะการ x-ray ตำแหน่งที่ไกลจากบริเวณอุ้งเชิงกราน
ผลกระทบจากรังสีที่ลูกน้อยจะได้รับ
- ในช่วงที่เริ่มจะมีการฝังตัวของทารก ปริมาณรังสีขนาด 0.1-0.15 Gy (1 Gy =100 rad) จะทำให้เกิดการแท้ง
- ในช่วงการตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 3-7 ปริมาณรังสีขนาด 0.05-0.5 Gy (1 Gy =100 rad) จะทำให้มีความผิดปกติของระบบกระดูก เช่น ขนาดของศีรษะมีขนาดเล็ก
- เมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 8-25 ปริมาณรังสีขนาด 0.05-0.5 Gy (1 Gy =100 rad) จะทำให้เกิดปัญญาอ่อน
สำหรับคุณแม่ที่ต้องผ่านเข้าเครื่องสแกนทั้งสนามบิน ตามรถไฟฟ้าต่างๆ ก็ไม่ต้องกังวลเช่นเดียวกัน เพราะมีค่าพลังงานระดับต่ำมาก ไม่มีผลต่อสุขภาพค่ะ
ดังนั้น เวลาที่คุณแม่ไปหาหมอแล้วคุณหมอแนะนำให้เอกซเรย์ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะการเอกซเรย์เพียงครั้งเดียวไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้ทารกในครรภ์ค่ะ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็จะใส่อุปกรณ์ป้องกันรังสีบริเวณท้องให้ด้วยค่ะ แต่คุณแม่ควรบอกคุณหมอว่าตั้งท้อง และสอบถามว่าการเอกซเรย์จะเป็นอันตรายหรือไม่ก่อนทุกครั้ง
ขอบคุณบทความดีๆ จาก https://th.theasianparent.com